2. ระบบการดูแลสุขภาพ
แนวคิดหลัก
แนวคิดการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน เป็นแนวคิดที่เกิดจากการใช้ปัญหาด้านภาวะสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการตอบสนองเชิงนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง และครอบคลุม ทั้งนี้มีการปรับระบบบริการสุขภาพเพื่อเพิ่มคุณภาพในการดูแลโดยการจัดระบบสุขภาพเชิงรุกในชุมชน และนำใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแล เช่น การดูแลสุขภาพแพทย์แผนไทย จึงมีการดำเนินการในการดูแลสุขภาพของประชาชนโดยกลุ่ม/แหล่งปฏิบัติการต่างๆในตำบล ได้แก่ 1) การบริการด้วยหลักการแพทย์ผสมผสาน 2) กลุ่มอาสามาเลเรียบ้านไทยสันติสุข หมู่ที่16 3) การดูแลสุขภาพด้านแพทย์แผนไทย และ 4) การจัดระบบสุขภาพเชิงรุก
จากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับการบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง และครอบคลุมมากขึ้น สามารถป้องกันการระบาดของโรคที่ป้องกันได้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ลดการเกิดโรค และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังแผนภาพ

2.1 การบริการด้วยหลักการแพทย์ผสมผสาน
แหล่งปฏิบัติการ “การบริการด้วยหลักแพทย์ผสมผสาน” ของโรงพยาบาลพนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นแหล่งหนึ่งที่สำคัญของตำบลบักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ กลุ่มปฏิบัติการนี้มีกิจกรรมที่สำคัญ 6 กิจกรรมในการใช้ศาสตร์ทางการแพทย์ แผนต่างๆ มาผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน อันได้แก่ 1) หลักการแพทย์แผนจีน โดยใช้การฝังเข็ม และองค์ความรู้การดูแลสุขภาพต่าง หลักแผนจีน 2) หลักการแพทย์แผนไทย โดยใช้การนวด อบ ประคบสมุนไพร ร่วมกับใช้ยาสมุนไพร และการดูแลสุขภาพแนวทางการแพทย์แผนไทย 3) หลักกายภาพบำบัด โดยใช้วิทยาการและเครื่องมือด้านกายภาพบำบัด ร่วมกับการฝึกสอน ปฏิบัติให้กับผู้ป่วยและญาติ 4) หลักการสมาธิบำบัด โดยการฝึกจิตให้เกิดสมาธิจนสามารถที่ควบคุม และรักษาอาการเจ็บป่วยได้ด้วยตนเอง 5) หลักสุขภาพยั่งยืนด้วยศีล 5 นำมาฝึกอบรมให้ผู้ป่วยสามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญญา คนพบสาเหตุของการเกิดทุกข์ ทำให้สามารถเข้าใจและแก้ไขปัญหาเจ็บป่วยและการรักษาตนเองได้อย่างยั่งยืน และ 6) หลักการแพทย์พื้นบ้าน การรักษาผู้ป่วยที่ถูกงูกัด และสัตว์มีพิษกัดด้วยโลดทะนงแดง สมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่น
การดำเนินกิจกรรมของแหล่งปฏิบัติงาน (หรือกลุ่ม) นี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2550 มาถึงปัจจุบันโดยเริ่มตั้งแต่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล นายแพทย์อภิสรรค์ บุญประดับ มาปฏิบัติหน้าที่หลังจากโรงพยาบาลได้เปิดดำเนินการมา 1 ปี โดยเริ่มผสมผสานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนจีนขึ้น และได้พัฒนาศาสตร์การแพทย์ต่างๆ ที่เป็นแพทย์ทางเลือก เข้ามาตามความพร้อมของโรงพยาบาลเป็นลำดับ ในปี พ.ศ. 2553 ได้ปรับวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาล ให้เป็นโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นโรงพยาบาลคุณภาพที่ให้บริการด้วยการแพทย์ผสมผสาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แหล่งปฏิบัติการนี้จึงเป็นกลุ่มงานที่พัฒนาขึ้นมาตามทิศทางของโรงพยาบาลมาจนปัจจุบัน (2554)
การแพทย์ผสมผสาน มีแนวคิดในการพัฒนาของแหล่งปฏิบัติการ คือ 1) การปรับใช้ภูมิปัญญาของแพทย์ทางเลือกสาขาต่างๆ เช่น ภูมิปัญญาของแพทย์แผนไทย อาทิการนวด อบ-ประคบสมุนไพร ส่งเสริมการดูแลป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพแบบแผนไทย กินผักริมรั้ว ฯลฯ การฝึกโยคะ สมาธิ การปรับใช้ภูมิปัญญาแพทย์แผนจีน การฝังเข็ม การดูแลสุขภาพแบบแผนจีน รวมถึงการใช้ภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่น ซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านรักษาผู้ป่วยด้วยสมุนไพร ”โลดทะนงแดง”สำหรับผู้ถูกงูพิษกัดและสัตว์มีพิษกัด ฯลฯ 2) การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “โรงพยาบาลพนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา” นับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกใน 10 โรงพยาบาลทั่วประเทศที่ได้รับฐานะเป็นโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จึงมีการปรับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มงานหรือแหล่งปฏิบัติการได้ใช้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการขับเคลื่อนกลุ่มตามแนวพระราชดำริ 3) การกำหนดแนวทางการบริการด้วยหลักการแพทย์แบบผสมผสานเป็นนโยบายของโรงพยาบาลและได้ปรับเป็นวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาล 4) การเชื่อมโยงกับชุมชน กลุ่ม/แหล่งปฏิบัติการถือการเชื่อมโยงกับชุมชนโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับโรงพยาบาลและกลุ่มในรูปแบบของการบริหารงานโดยคณะกรรมการจากชุมชน และการจัดระบบการตรวจเยี่ยมชุมชน รวมถึงการสร้างอาสาสมัครจิตอาสา มีผ้าป่าสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มแพทย์ผสมผสานในการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ฯลฯ และ 5) การสร้างภาคีเครือข่ายกับพื้นที่และองค์การบริหารส่วนตำบลในการทำงานร่วมกัน
2.2 กลุ่มอาสามาลาเรียบ้านไทยสันติสุข หมู่ที่ 16
เนื่องจากพื้นที่หมู่บ้านไทยสันติสุข เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดของโรคไข้มาลาเรียและยากลำบากต่อการควบคุมโรค เพราะเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างชายแดนประเทศ ไทย – กัมพูชา มีการอพยพเข้าออกของชาวต่างชาติเพื่อเข้ามารับจ้างขายแรงงานในหมู่บ้านจำนวนไม่น้อยตลอดจนประชาชนเข้าหาของป่ามาขายและ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านไทยสันติสุขหมู่ที่ 16 และบ้านไทยนิยมพัฒนาหมู่ที่ 17 มีพื้นที่อยู่ติดกับป่าเขาซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย ทางเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานโครงการกองทุนโลกมาลาเรียตัวแทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ได้ลงพื้นที่สำรวจในหมู่บ้าน เพื่อต้องการตั้งสถานบริการมาลาเรียคลินิกชุมชนให้กับประชาชนในพื้นที่และชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาขายแรงงานในพื้นที่ โดยคัดเลือกตัวแทนจากความสมัครใจที่มีจิตอาสาให้การบริการกับประชาชนในพื้นที่ และได้คัดเลือก นายสมพร สีน้ำคำ เพราะเป็นบุคคลที่มีจิตอาสาและสามารถประสานงานร่วมกับบุคคลในชุมชนได้ดีเป็นตัวแทนของชุมชน โดยกิจกรรมที่ดำเนินการจะเป็นการให้บริการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไข้มาลาเรีย การรักษาบริการมาลาเรียเบื้องต้น และให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากการป่วยเป็นไข้มาลาเรีย การดูแลรักษาทำความสะอาดมุ้ง และเป็นหมู่บ้านที่เข้าร่วมการรณรงค์การป้องกันไข้มาลาเรียในพื้นที่เสี่ยงสูงซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น หน่วยงานกองทุนโลกที่ควบคุมติดต่อที่นำโรคโดยแมลง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ โรงเรียน และประชาชนในชุมชน เป็นต้น หัวใจสำคัญในการดำเนินงาน คือ ตรวจเร็ว รักษาเร็ว หายเร็ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสถานบริการมาลาเรียในชุมชน เพื่อเป็นการขยายเครือข่ายการเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้มาลาเรีย เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเกิดเครือข่ายอาสาสมัครในการดูแลสุขภาพในชุมชน ตลอดจนให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้และเข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพร่วมกัน
2.3 การดูแลสุขภาพด้านแพทย์แผนไทย
การแพทย์แผนไทยเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าของไทยที่ได้ช่วยเหลือคนไทยมาช้านาน มีประโยชน์มากและเป็นที่พึ่งสำหรับชาวชนบทที่อยู่ห่างไกลและสามารถประยุกต์ใช้ ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ดังนั้น รพ.สต.เฉลิมพระเกียรติฯบ้านรุน ตำบลบักได มีแนวคิดที่จะรวบรวมองค์ความรู้ทางการแพทย์พื้นบ้านในตำบลบักได มีหมอพื้นบ้านช่วยในการรักษาพิษงู และหมอพื้นบ้านรักษาแบบจอดกระดูก และยาสมุนไพร และให้นโยบายดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ ควบคู่ไปกับการรักษาพยาบาล ป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพ ภายใต้การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยเปิดบริการตรวจวินิจฉัยโรค จ่ายยาสมุนไพร นวด อบสมุนไพร ประคบสมุนไพรและทับหม้อเกลือให้มารดาหลังคลอด การบริหารร่างกายแบบฤาษีดัดตนรวมถึงการแนะนำและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพแก่ผู้ที่สนใจโดยใช้ทฤษฎีการแพทย์แผนไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพแบบภูมิปัญญาไทยอย่างง่ายและเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานแพทย์แผนไทย เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์แผนไทยมีเพียง 2 ท่าน ซึ่งไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั้งตำบล กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาเครือข่ายผู้ช่วยแพทย์แผนไทย โดยจัดอบรมนวดแผนไทย สร้างหมอนวดรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพของคนในหมู่บ้าน โดยหมอนวด 1 คน รับผิดชอบดูแล 10 ครัวเรือน ตลอดจนมีการปลูกสมุนไพรไว้ใช้ในครัวเรือน และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายเสริมรายได้ นอกจากนี้ยังจัดอบรมเพิ่มทักษะดูแลผู้พิการ จัดกิจกรรมเยี่ยมผู้พิการให้แก่ อสม. และญาติของผู้พิการ ส่งผลให้ผู้พิการในตำบลได้รับการช่วยเหลือดูแลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสวัสดิการ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงคนในครอบครัวด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากนิคมสร้างตนเองปราสาท กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และองค์การบริหารส่วนตำบลบักได ร่วมมือกับ รพ.สต.เฉลิมพระเกียรติฯบ้านรุน ได้จัดทำประชาคมภาคีเครือข่ายหาปัญหาในชุมชนร่วมกับชาวบ้าน เพื่อจัดทำโครงการสร้างชีวิตใหม่ให้สตรีและครอบครัว หลักสูตรนวดแผนไทย และนวดฝ่าเท้า หลักสูตร 88 วัน โดยมีสมาชิกกลุ่ม 30 คน คัดเลือกตามหมู่บ้านในตำบลบักได เพื่อช่วยสร้างอาชีพ และช่วยดูแลสุขภาพของคนในชุมชน โดยแบ่งตามเขตรับผิดชอบของพื้นที่ รพ.สต. เน้นในกลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มมารดาหลังคลอด และกลุ่มเด็ก 0-5 ปี เพื่อการปฏิบัติงานเชิงรุกตามกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนตำบลบักไดมีสุขภาพแข็งแรงอย่างยั่งยืน
2.4 การจัดการระบบสุขภาพเชิงรุกในชุมชน
ในพื้นที่ตำบลบักได มีจำนวน 20 หมู่บ้าน มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 3 แห่ง และโรงพยาบาลประจำอำเภอ 1 แห่ง ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้แก่ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มเด็กอายุ 0-5 ปี กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ และกลุ่มหญิงวัยแรงงาน (20-59 ปี) อยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขไม่ครอบคลุมและไม่ทั่วถึง ไม่มีผู้ดูแลอย่างต่อเนื่องและขาดการรักษา ซึ่งทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก สถานบริการด้านสุขภาพจึงมีแนวคิดในการให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึงและพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการดังกล่าว จึงจัดบริการดูแลสุขภาพเชิงรุกในชุมชนในเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังการเจ็บป่วยและคุ้มครองผู้บริโภค โดยการจัดฝึกอบรม สอนเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้มีความรู้เรื่องการเยี่ยมบ้าน และมีทีมสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกันดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ทั้งเชิงรับและเชิงรุก รวมทั้งได้ใช้งบประมาณจากกองหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการจัดกิจกรรมด้านสุขภาพแก่ประชาชนตามชุดสิทธิประโยชน์ โดยเน้นการให้บริการในชุมชน มีการเตรียมพร้อมของบุคลากรและอาสาสมัครสาธารณสุขออกเยี่ยมบ้าน เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลและสามารถปฏิบัติตนเองได้อย่างถูกต้อง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล มีการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้มากขึ้น รับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพได้เร็วขึ้น วางแผนในการดูแลสุขภาพของตนเองญาติและผู้ป่วย ตลอดจนมีการเชื่อมโยงและนำใช้ข้อมูลการเจ็บป่วยในการจัดบริการ ส่งเสริม เฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรครักษา และฟื้นฟูสุขภาพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
|