3.ระบบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แนวคิดหลัก
แนวคิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของอบต.บักได เป็นการดำเนินการเพื่อคงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งประโยชน์ในพื้นที่ เป็นการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า เพื่อให้เกิดความสมดุลของระบบนิวศน์ และส่งเสริมให้เป็นแหล่งอาหารของชุมชน การดำเนินการที่มีความโดดเด่นในพื้นที่ ได้แก่ การอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านเขาโต๊ะ ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์ผืนป่าของชุมชนให้เป็นแหล่งศึกษาทางธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน โดยร่วมกับผู้นำในชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงชาวบ้านที่อยู่ภายในหมู่บ้านและละแวกพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมปลูกทดแทน

3.1 ระบบนิเวศต้นน้ำป่าชุมชนบ้านเขาโต๊ะ
ระบบนิเวศต้นน้ำป่าชุมชนบ้านเขาโต๊ะ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดม มีพืชพรรณและสัตว์ป่านาๆชนิดหลากหลาย มีพื้นที่ประมาณ 1,700 ไร่ ครอบคลุมบ้านเขาโต๊ะ หมู่ที่ 19 เชื่อมติดต่อกับบ้านอุโลก และบ้านไทยนิยม ในปี พ.ศ.2516 พื้นที่แห่งนี้มีการจับจองที่ทำกิน ราษฎรแพ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตร ทำให้ป่าไม้ที่มีอยู่เดิมลดจำนวนลง พื้นดินที่เคยสมบูรณ์เริ่มเสื่อมสภาพ เพาะปลูกไม่ได้ผล กระทั่งในปี พ.ศ.2528ราษฎรบ้านเข้าโต๊ะ ได้บริจาคที่รกร้างเพื่อสร้างวัด จำนวน 28 ไร่ โดยมีพระพนมศิลาจารย์ วังคีโส เป็นเจ้าอาวาส จากจุดนี้เอง พระพนมศิลาจารย์ ได้มีแนวคิดที่จะฟื้นฟูสภาพป่าที่รกร้างและสภาพดินที่เสื่อมโทรม ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพื่อให้เป็นแหล่งต้นน้ำ และเป็นสื่อกลางศูนย์รวมกิจกรรมของชุมชน จึงได้เชิญชวนราษฎรในพื้นที่ทำการปลูกป่าในเขตวัด ในวันสำคัญต่างๆ เช่นวันสำคัญทางศาสนา วันสำคัญของชาติ เมื่อปลูกป่าเต็มพื้นที่ 28 ไร่แล้ว พระพนมศิลาจารย์ มีแนวคิดที่จะขยายพื้นที่การปลูกป่าภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน ท่านได้ขอรับบริจาคที่ดิน และทำการระดมทุนในการจัดซื้อที่ดิน โดยร่วมกับราษฎรจัดทอดผ้าป่าสามัคคี เมื่อได้ทุนแล้วก็จัดซื้อที่ดินเพื่อปลูกป่าเพิ่มขึ้นทุกปี กระทั่งในปี พ.ศ.2544 มีพื้นที่การปลูกป่าประมาณ 1,700 ไร่
ปัจจุบันพื้นที่ป่าชุมชนบ้านเขาโต๊ะมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีระบบการบริหารจัดการในรูปคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการมาจากการเลือกของชุมชน เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากร ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ในปี พ.ศ.2552 คณะกรรมการป่าชุมชน ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.)ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น โครงการศึกษาองค์ความรู้และระบบนิเวศพื้นบ้านในป่าชุมชนเขาโต๊ะ เพื่อจัดทำแหล่งเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศต้นน้ำในพื้นที่พนมด็องแร็ก ผลจากการศึกษา ได้มีการจัดเก็บข้อมูลทรัพยากรป่าไม้ของป่าชุมชนเป็นหมวดหมู่ ประกอบด้วย(1)สัตว์ (2)สมุนไพร (3)เห็ด (4)ผลไม้ (5)พื้นที่ชุ่มน้ำ (6)เฟิร์น มอส (7)ร่องน้ำ (8)ผัก (9)ตาน้ำ (10) พันธุ์ไม้ ในแต่ละหมวดหมู่ได้จัดทำเป็นฐานการเรียนรู้เพื่อการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยมีกลุ่มเข้าศึกษาจากคนในชุมชน โรงเรียนในพื้นที่และใกล้เคียง
จากการดำเนินกิจกรรมของป่าชุมชนนับแต่แรกเริ่มจากการปลูกป่า 28 ไร่ กระทั่งปัจจุบันมีพื้นที่ป่าประมาณ 1,700 ไร่ สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของการพัฒนาประกอบด้วย
1) สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของชุมชน มีศูนย์รวมคือวัดป่าเขาโต๊ะโดยพระพนมศิลาจารย์ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในการกระตุ้น ดึงการมีส่วนร่วมจากชุมชน โดยอาศัยประเพณีวัฒนธรรมทางศาสนาและประเพณีความเชื่อหรือพิธีกรรมของชุมชนเป็นสื่อกลาง เช่น การปลูกป่าในวันสำคัญทางศาสนา ผู้นำชุมชน ก็มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม โดยอาศัยเวทีการประชุมประจำเดือนของชุมชน และนอกนอกจากนี้ ชุมชนยังมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังรักษาป่า เฝ้าระวังไฟป่า
2) การระดมทุนเพื่อขยายพื้นที่ปลูกป่า ในการขยายพื้นที่ปลูกป่า พระพนมศิลาจารย์ ได้ขอรับบริจาคที่ดินรอบวัด และการระดมทุน ทั้งจากคนในชุมชน และคนของชุมชนที่ไปประกอบอาชีพต่างจังหวัด โดยวิธีการทอดผ้าป่าสามัคคี นอกจากจะเป็นประเพณีทางศาสนาแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นคนในชุมชนให้สำนึกรักบ้านเกิดกลับมาทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน ในบางปี การระดมทุนได้น้อย ก็จะซื้อที่ดินเงินผ่อน ชุมชนจะร่วมมือจัดผ้าป่าสามัคคีในปีถัดไปเพื่อผ่อนชำระ ซึ่งกระบวนการนี้เองได้กระตุ้นให้ชุมชนได้เห็นถึงความยากลำบากของการได้มาซึ่งผืนป่า เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากร
3) การสร้างจิตสำนึกความเป็นเจ้าของร่วม ในการอนุรักษ์ป่าชุมชน ต้องอาศัยคนในชุมชนเป็นหลักเนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดป่า ได้รับผลประโยชน์จากป่าโดยตรง ดังนั้น การสร้างให้ชุมชนมีความรู้สึกความเป็นเจ้าของร่วมจึงเป็นวิธีการที่จะอนุรักษ์ รักษาป่าชุมชน โดยอาศัยวัฒนธรรมหรือพิธีกรรมท้องถิ่นมาปรับใช้ เช่น ประเพณีแซนโดนตา ใช้ใบตอง ใบไม้แทนการใช้ถ้วยชาม
4) การจัดการฐานข้อมูลป่าชุมชน และป่าชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรอยู่จำนวนมาก คณะกรรมการจึงมีแนวคิดที่จะจัดหมวดหมู่ของทรัพยากรเพื่อให้สะดวกในการศึกษา ค้นคว้า เป็นฐานข้อมูลในการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.)ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น “ โครงการศึกษาองค์ความรู้และระบบนิเวศพื้นบ้านในป่าชุมชนเขาโต๊ะ เพื่อจัดทำแหล่งเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศต้นน้ำในพื้นที่พนมด็องแร็กกรณี บ้านเขาโต๊ะ” มีการจัดเก็บข้อมูลทรัพยากรป่าไม้ของป่าชุมชนเป็นหมวดหมู่ และจัดเป็นฐานการเรียนรู้ จำนวน 10 ฐาน คือ 1) สัตว์ 2) สมุนไพร 3) เห็ด 4) ผลไม้ 5)พื้นที่ชุ่มน้ำ 6) เฟิร์น มอส 7) ร่องน้ำ 8) ผัก9) ตาน้ำ และ10) พันธุ์ไม้
5) การกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับป่า ป่าชุมชนเป็นแหล่งทรัพยากร ที่คณะกรรมการจะต้องจัดสรรการใช้ทรัพยากรนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนสูงสุด ถึงแม้จะมีการสร้างจิตสำนึกการเป็นเจ้าของร่วมของชุมชน ชุมชนรักและหวงแหน แต่การที่จะให้บ้าน วัด โรงเรียน และชุมชน อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างปกติสุข จำเป็นจะต้องมีเครื่องมือหนึ่งเป็นเป็นตัวกำหนดไม่ให้มีการเบียดบังทรัพยากรจากป่าเกินไป และเป็นการแบ่งปันทรัพยากรอย่างเป็นธรรม คณะกรรมการและราษฎรในชุมชนจึงกำหนดกฎระเบียบป่าชุมชนขึ้น จำนวน 12 ข้อ มีสภาพการบังคับใช้และมีค่าปรับ โดยชุมชนจะเป็นผู้สอดส่องดูแลมิให้เกิดการละเมิดกติกา
ผลจากการดำเนินกิจกรรมของป่าชุมชน ถือได้ว่าวัดและราษฎรในชุมชน มีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันกิจกรรมการปลูกป่า เป็นการประสานบูรณาการความร่วมมือจากทุกฝ่าย คณะกรรมการป่าชุมชน ได้มีแนวคิดต่อยอดจัดทำหลักสูตรป่าชุมชนเพื่อใช้ศึกษาในโรงเรียน นอกจากป่าชุมชนแห่งนี้จะมีความอุดมสมบูรณ์แล้ว ในเขตพื้นที่ป่ายังมีแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่ยังไม่ได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น รอยพระพุทธบาทจำลอง บ่อน้ำทิพย์ อย่างเก็บน้ำ ลานหิน และถ้ำ ซึ่งถือเป็นศักยภาพและโอกาสของชุมชนที่จะพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ควรค่าแก่การศึกษาต่อไป |