4.ระบบอาสา/ความมั่นคงปลอดภัย
แนวคิดหลัก
แนวคิดของระบบอาสา/ความมั่นคงปลอดภัย เป็นแนวคิดของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในตำบล โดยการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทั้งในและนอกพื้นที่ และดำเนินการบูรณาการแผนแบบมีส่วนร่วม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงความมั่นคงปลอดภัย เนื่องจากเขตพื้นที่ตำบลบักได เป็นเขตพื้นที่ชายแดน ซึ่งเป็นจุดล่อแหลมต่อความมั่นคงของประเทศ หน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการอาสา และดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยนอกจากเป็นหน่วยงานส่วนราชการภาครัฐของส่วนกลางแล้ว อบต.เป็นองค์กรหลักที่มีภารกิจ รับผิดชอบดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยการจัดตั้งหน่วยงาน หรือองค์กรที่เป็นรูปธรรม เพื่อดำเนินกิจกรรมในการป้องกัน ดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ประชาชน

4.1 เครือข่ายอปพร.และเครือข่ายป้องกันอาชญากรรม
เครือข่ายอปพร.หรืออาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน เป็นแนวคิดที่มาจากเหตุปัจจัยทั้งที่มาจากนโยบายภาครัฐ นโยบายของอบต.ที่มีภารกิจรับผิดชอบในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งพื้นที่ในเขตตำบลบักไดมีพื้นที่บางส่วนติดกับเขตชายแดน ดังนั้นการจัดตั้งหน่วยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนจึงเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของอบต. ทั้งนี้ได้ดำเนินงานเชื่อมประสานกับหน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยองค์การบริหารส่วนตำบลบักได ซึ่งมีภารกิจในการช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น การจัดรถน้ำเอนกประสงค์คอยให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยฉุกเฉินกรณีอัคคีภัย การบรรทุกน้ำช่วยเหลือปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ยังการพัฒนาบุคลากรโดยการจัดอปพร.ทั้งสิ้น 3 รุ่นๆ รวมจำนวนทั้งสิ้น 230 คน และ ในปี 2552 - 2553 องค์การบริหารส่วนตำบลบักไดได้จัดฝึกอบรมเครือข่ายอาสาป้องกันอาชญากรรมขึ้น โดยมีผู้รับการผ่านอบรมทั้งสิ้นจำนวน 120 คน นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มศักยภาพของสมาชิก อปพร. ทั้งด้านการศึกษาดูงานองค์กรที่มีความเข้มแข็งด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย และที่สำคัญได้มีการจัดตั้งทีมกู้ชีพกู้ภัย 1ตำบล 1 ทีมกู้ชีพ จำนวน 10 นาย ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแล กู้ชีพ กู้ภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลบักไดหรือพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างตำบล รวมทั้งยังส่งบุคลากรงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปศึกษาดูงานและฝึกอบรมตามหลักสูตรต่าง ๆ ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดขึ้น
จากการดำเนินงานของกลุ่มอปพร.อบต.บักได แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการพัฒนาของ อปพร. ได้แก่
1. การสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย โดยการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการหน่วยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการจากทุกฝ่ายทั้งใน และนอกพื้นที่ โดยมีนายกอบต.บักได เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันจัดทำแผนเชิงบูรณาการในการดูแลความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน และแผนอพยพประชาชน
2. การสื่อสาร และ การประชาสัมพันธ์ ของ อปพร. โดยมีแนวทางในการฝึกอบรมของ อปพร. เพื่อให้มีแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ในการใช้วิทยุสื่อสาร (ว.)ให้ถูกวิธีตามระเบียบของทางราชการและเวลาออกปฏิบัติงานและสื่อสารแต่ละงาน ให้แน่ชัดว่าสถานที่เหตุเกิดที่ใด / เกิดเหตุการณ์ใด เพื่อจะได้สื่อสารให้ถูกต้อง ชัดเจน เพื่อประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ และภาคีร่วม ที่จะให้หน่วยงานนั้น ๆ ให้การสนับสนุนและสื่อสารให้ถูกวิธีเพื่อให้หน่วยงาน ที่จะทำการช่วยเหลือ ได้รับการประสานให้ชัดเจนและช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที สำหรับการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของ อปพร. เพื่อให้รู้และบทบาทของหน้าที่ของ อปพร. เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าอำนาจ หน้าที่ อปพร. มีอะไรบ้าง เช่น งานบรรเทาสาธารณภัย อัคคีภัย วาตะภัยและงานอื่นๆ ที่ผู้อำนวยการศูนย์ ฯ มีคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเกี่ยวกับ งานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยในการช่วยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เวลาเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยที่ประชาชนจะต้องติดต่อหน่วยงานใดบ้าง เพื่อให้ความสะดวกและรวดเร็ว ทันทีในการช่วยเหลือในแต่ละสถานการณ์ และองค์การบริหารส่วนตำบลบักได ได้มีการจัดเสียงตามสายไว้คอยประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ของศูนย์ อปพร. ว่ามีอำนาจ หน้าที่อย่างไรบ้าง ได้ทำกิจกรรมอะไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา และเวลาประชุมประจำเดือนของแต่ละเดือนของอำเภอ ฯ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลบักไดได้เข้าร่วมประชุมกับอำเภอพนมดงรัก และหัวหน้าส่วนของอำเภอทุกส่วน เพื่อปรึกษาหารือในการปฏิบัติร่วมกันเป็นประจำทุกดือน รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในอำเภอพนมดงรักและภาคีใกล้เคียง เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารจากศูนย์ อปพร. ขององค์การบริหารส่วนตำบลบักได
3. การพัฒนาศักยภาพ อปพร. ได้มีการใช้ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบักได ในการฝึกอบรม ให้ความรู้ ทักษะต่าง ๆ และใช้ห้องประชุมของอำเภอพนมดงรัก และภาคีเครือข่ายที่อยู่นอกตำบลบักได เพื่อฝึก อปพร. และเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชน และเป้าหมายของ อปพร. คือ บริการประชาชนทุกระดับ ประทับใจ และผู้ที่ปฏิบัติในหน้าที่ต้องมีจิตอาสา /จิตสาธารณะ เพื่อจะได้บริการประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
4. การสร้างภาคีเครือข่ายนอกพื้นที่ ติดต่อประสานหน่วยงานที่อยู่ในตำบลบักไดและนอกพื้นที่ เช่น หน่วยงานของอำเภอพนมดงรัก มีปลัดอำเภอฝ่ายป้องกัน ฯ และอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ที่อยู่ในอำเภอ หน่วยงานของตำรวจ / ทหารพราน ฯ /นพค.55 / สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดสุรินทร์ และภาคีร่วมอื่น ๆ
5. การใช้ปัญหาพื้นที่เป็นที่ตั้งเนื่องจากตำบลบักไดมีพื้นที่ติดแนวชายแดนไทย – กัมพูชา โดยมีเทือกเขาพนมดงรักขวางกั้น เขตแดน จึงมีปัญหาต่าง ๆ ตามมาอย่างมากมาย ดังนั้นศูนย์ อปพร. จึงมีบทบาทในพื้นที่มากกว่าตำบล อื่น ๆ เช่น ต้องมีการซักซ้อมแผนอพยพ ศูนย์ อปพร. จึงได้มีการซ้อมแผนอพยพ เป็นประจำทุกปี ร่วมกับหน่วยงานภาคี เช่น ทหาร อำเภอ โรงเรียน ประชาชน รวมทั้งองค์กรต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีการเตรียมพร้อมเวลามีสถานการณ์การสู้รบตามแนวชายแดน จะได้อพยพราษฎรในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จากปัญหาที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนดังกล่าว ซึ่งศูนย์ อปพร. องค์การบริหารส่วนตำบลบักไดได้จัดทำแผนอพยพ ร่วมกับภาคีแต่ละหมู่บ้านเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเมื่อมีเหตุฉุกเฉินขึ้น |