8.ระบบเศรษฐกิจชุมชน
แนวคิดหลัก
องค์การบริหารส่วนตำบลบักได ได้สนับสนุนและส่งเสริมการรวมกลุ่มของประชาชนในพื้นที่ เพื่อการทำกิจกรรมในลักษณะของการสร้างรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพหลัก ได้แก่ กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านหนองแวงโดยมีการรวมกลุ่มสมาชิกเพื่อขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์ทอผ้าไหมเพื่อการจำหน่าย จากหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มหญ้าคาบ้านนาพูนโดยการรวมกลุ่มกันและสมทบทุนเพื่อให้สมาชิกได้กู้ยืมเงินในระหว่างที่รอจำหน่ายตับหญ้าคาของตนเอง นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความสะดวกจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆของชุมชนเอง ได้แก่ การจัดตั้งโรงสีชุมชนบ้านรุนซึ่งให้บริการสีข้าวในชุมชนโดยชุมชนตนเอง แล้วสิ้นปีมีการปันผลคืนจากการมาใช้บริการสีข้าว และการจัดตั้งศูนย์สาธิตการตลาดบ้านอำปึล เพื่อให้ประชาชนได้ซื้อสินค้าและได้รับเงินปันผลกำไรเมื่อสิ้นปีจากการซื้อสินค้า รายละเอียดด้งนี้

8.1 โรงสีชุมชนบ้านรุน
จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนในชุมชนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง และให้สมาชิกกู้ยืมข้าวเพื่อการบริโภค และยังส่งเสริมให้มีรายได้จากการนำข้าวมาสีที่โรงสีชุมชน ได้ความรักความสามัคคีในชุมชน สมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปที่นำข้าวมาสีที่โรงสีชุมชน มีสิทธิ์ได้รับเงินปันผลเฉลี่ยคืนในอัตราเดียวกัน และนอกจากนี้ กลุ่มยังได้สนับสนุนทุนส่วนหนึ่งให้กับกองทุนแม่ของแผ่นดิน ในการจัดสวัสดิการด้านต่าง ๆ ในชุมชน ได้แก่ สวัสดิการช่วยเหลือเด็กแรกเกิด สวัสดิการการรักษาพยาบาลกรณีนอนโรงพยาบาล เงินสงเคราะห์ศพ กิจกรรมส่งเสริมกีฬา สนับสนุนโครงการเฝ้าระวังความปลอดภัยในชุมชน ช่วงเทศกาลต่าง ๆ สนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ เป็นต้น
8.2 ศูนย์สาธิตการตลาดบ้านอำปึล
หมู่ที่ 6 มีแนวคิดที่ต้องการที่จะจัดตั้งศูนย์สาธิตการตลาดเองและเพื่อการบริหารจัดการศูนย์ที่เป็นเอกเทศจากหมู่ 20 จึงได้แยกตัวมาจัดตั้งศูนย์สาธิตขึ้นเองโดยการระดมหุ้นจากสมาชิกผู้ที่สนใจเข้าร่วมเพื่อนำเงินไปซื้อสิ่งของเพื่อการบริโภค-อุปโภคมาจำหน่ายให้สมาชิกและประชาชนทั่วไปแล้วนำผลกำไรมาแบ่งปันให้สมาชิกและช่วยเหลือสาธารณะประโยชน์ในชุมชนทุกปี
8.3 กลุ่มสตรีทอผ้าไหม บ้านหนองแวง หมู่ 15
จัดตั้งขึ้นเนื่องจากวัฒนธรรมดั้งเดิมในการแต่งงานของชาวสุรินทร์ ที่ต้องใช้ผ้าไหมเท่านั้นเป็นของกำนัลแก่ผู้ใหญ่ ของคู่บ่าวสาว ประกอบกับวัฒนธรรมในการปลูกหม่อมเลี้ยงไหมเริ่มหายไป ทำให้เกิดกลุ่มสตรีทอผ้าไหมของหมู่บ้านหนองแวงขึ้น โดยเริ่มจากแนวคิดของสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ บางส่วนที่เป็นผู้หญิง รวมตัวกันเพื่อเกิดการจัดระบบการจัดการที่เหมาะสมโดยมีหน่วยงานของรัฐ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมจัดการ ทั้งในหน่วยงานภายในและภายนอกองค์กร ทำให้ชุมชนเองมีการตื่นตัวในการพัฒนางานเพื่อให้ก่อเกิดรายได้เพิ่มและเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม ขนมธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมเอาไว้
8.4 กลุ่มหญ้าคาบ้านนาพูน
จัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายที่ต้องการกำหนดขนาดของการทำตับหญ้าคาของคนในหมู่บ้านให้มีขนาดและมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งการกำหนดราคากลางของหมู่บ้าน เพื่อป้องกันการขายสินค้าตัดราคากันของผู้ผลิตตับหญ้าคาในหมู่บ้าน ด้วยแนวคิดนี้จึงได้เกิดการรวมกลุ่มกันพร้อมทั้งได้กำหนดข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับขนาดตับหญ้าคาและราคาขายที่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังได้ให้สมาชิกกลุ่มทำการสมทบเงินเมื่อแรกเข้า 30 บาท เพื่อเป็นเงินทุนสำรองในการกู้ยืมของกลุ่มหญ้าคา ซึ่งช่วยให้สมาชิกที่มีปัญหาทางด้านการเงินในระหว่างที่รอขายตับหญ้าคาได้กู้เงินไปใช้ก่อนขายผลผลิตในวงเงิน 500 บาท พร้อมกันนี้ยังได้กำหนดข้อตกลงของการชำระเงินคืน เมื่อสมาชิกได้ขายตับหญ้าคา สมาชิกที่กู้ยืมเงินไปต้องนำเงินมาจ่ายให้กับกลุ่มพร้อมกับสมทบเงินยืมเพิ่มอีก 20 บาท จากการรวมกลุ่มดังกล่าวทาง อบต.บักไดได้เห็นความสำคัญจึงให้เงินสมทบกลุ่มมาอีก 8,000 บาทเพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับให้สมาชิกได้กู้ยืม และด้วยการกำหนดคุณภาพ ขนาด และราคาของตับหญ้าคาที่มีมาตรฐานเดียวกันจึงทำให้ตับหญ้าคาของบ้านนาพูนได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในพื้นที่
|